ระยะเวลา 25 ปีกว่า แต่ละคนโตเป็นผู้ใหญ่หากนึกย้อนไปในวัยเด็ก แต่ละคนคงมีภาพจำชนิดที่เรียกว่าลืมไม่ลง วัยเด็กของเราเป็นอย่างไร ลองจินตนาการย้อนหลังกลับไปดู ปอน วรษิต จันทร์ศิริ ในความทรงจำของทีมงานทุ่งแสงตะวัน เขาคือเด็กผู้ชายตัวกระเปี๊ยก ที่ทุกคนต้องทึ่งในฝีมือการตีกลองชัยมงคล ในขณะที่ความสูงยังไม่ถึงกลองด้วยซ้ำ
ความน่ารักน่าทึ่งของเด็กชายในวันวานเป็นอย่างไร วันนี้เขาก็ยังเป็นอย่างนั้น แถมเพิ่มเลเวลความเป็นมืออาชีพขึ้นไปอีกหลายระดับ พี่ๆทีมงานพบกับปอนอีกครั้งในวันที่เติบโตเป็นชายหนุ่ม มีจิตวิญญาณการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเต็มหัวใจ
ปีพ.ศ.2561 ปอนอายุ 23 ปี กำลังจะเป็นจบเป็นบัณฑิตภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในความเป็นครู ปอนให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ลูกศิษย์อย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นวิชาภาษาไทยในระบบการเรียนการสอนที่โรงเรียน และการสอนทักษะฝีมือการตีกลองสะบัดชัยและเครื่องดนตรีล้านนาต่างๆให้กับเด็กๆ
ปอนกล่าวว่า “ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน” ดังนั้นไม่ว่าจะในฐานะครูภาษาไทย หรือครูกลอง ครูดนตรีล้านนา เมื่อเลือกที่จะทำแล้ว จึงลงมือและทำเต็มที่เสมอ เมื่อไปฝึกสอนโรงเรียนที่กิจกรรมดนตรีได้ร้างลาไปนาน ปอนใช้เวลาช่วงพักกลางวัน ชวนนักเรียนที่สนใจมาเรียนกลอง จากหนึ่งเป็นสองเป็นสามเป็นสิบ ค่อยๆฝึกกันไป จนสามารถตั้งเป็นวง มีทั้งกลอง ฆ้อง ฉาบ ครบเครื่อง ในเวลาสั้นๆลูกศิษย์ครูปอนไปประกวดได้รับรางวัลหลายเวที จนเกิดเป็นกระแสให้นักเรียนในโรงเรียนหันมาสนใจศิลปวัฒนธรรมล้านนาเพิ่มมากขึ้น
ปอนกล่าวอย่างถ่อมตนว่า “ครูสอนเด็กได้ไม่เกิน 40% อีก 60% ที่เหลือเป็นความสนใจของเด็กเอง ซึ่งมันจะเป็นแรงผลักดันให้เขาพยายามไปฝึกฝนเอง สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะหนุนให้เขาไปได้ไกล” คำกล่าวของปอนสะท้อนภาพตัวเองในวัยเด็กจวบจนปัจจุบัน
“เวลาสอนเด็กๆก็เหมือนเห็นตัวเองในวัยเด็กนะครับ ครั้งหนึ่งเราก็เคยตามก้นพ่อครู วันนี้มาเป็นผู้สอนแล้ว ก็ภูมิใจครับ”
เป็นครูสอนกลองสะบัดชัยตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.5 เรื่อยมาจนมัธยม มหาวิทยาลัย ปอนเป็นหนึ่งในครูภูมิปัญญาล้านนา แห่งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่ ไม่เฉพาะการตีกลองสะบัดชัย กลองปู่จา กลองชัยมงคล ฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ก็เป็นศิลปะการแสดงวัฒนธรรมล้านนาอีกประเภทที่เป็นเอกลักษณ์ของปอน รวมทั้งสะล้อ ซึง ปี่จุม พิณเปี๊ยะ และเครื่องดนตรีล้านนาทุกชนิด หากจะฟังกันจริงๆคงฟังกันได้ทั้งวัน
นอกเหนือจากนี้ในระยะหลังปอนให้ความสนใจเครื่องดนตรี และศิลปวัฒนธรรมของทางไทใหญ่มากขึ้น ทำให้ได้พัฒนาฝีมือตัวเองให้กว้างและลึกลงไปอีก นับเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือน่าจับตามอง
ความสามารถทางดนตรีล้านนา ความรักความชอบในวันวาน บวกความตั้งใจแน่วแน่ ทำให้เด็กชายคนหนึ่งฝึกปรือจนมีชื่อเสียง พบเรื่องราวของ ปอน วรษิต จันทร์ศิริ และเส้นทางของเขาได้ในรายการทุ่งแสงตะวัน เสาร์ที่ 27 มกราคม 2561 ทางช่อง 3 และช่อง 33 เวลา 06.25 น. ในตอน จายปอน แล้วจะพบแรงบันดาลใจอีกมากมายจากชายหนุ่มคนนี้
วสวัณณ์ รองเดช