“หนูชอบมาเรียนที่ป่าไผ่ค่ะ บางครั้งก็มาทำไม้กวาด ทำแก้วน้ำ ทำข้าวหลามกับเพื่อนๆของเล่นก็เคยทำนะคะ ที่ป่าไผ่อากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจเราสงบค่ะ”
เด็กหญิงอาข่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แห่งโรงเรียนบ้านใหม่สามัคคี ตำบลป่าซางอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย พูดถึงกิจกรรมหลากหลายที่ป่าไผ่ท้ายโรงเรียน
บูสึ และเพื่อนๆ โรงเรียนบ้านใหม่สามัคคี มักจะรวมตัวใช้ผืนป่าไผ่ที่โรงเรียน และชุมชนร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ ช่วยกันบูรณาการทำให้ต้นไผ่หลากหลายสายพันธุ์ กลายเป็นวิชาแสนสนุก แม้แต่ชาวบ้านก็เป็นครูภูมิปัญญาให้เด็กๆ ได้
ทุกครั้งที่เด็กๆ เข้าไปเรียนในป่าไผ่ มักจะมีวิชาใหม่ๆที่มีไผ่เป็นโจทย์ตั้งต้นเสมอ ในช่วงฤดูแล้งมีกิ่งไผ่แห้งๆ อยู่มาก เด็กๆ ก็จะได้คิด ค้น ทดลอง หาวัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัวสร้างสรรค์เป็นงานฝีมืออย่างเช่นไม้กวาดไม้ไผ่ บางครั้งเชิญคุณลุงผู้เชี่ยวชาญเรื่องไม้ไผ่มาเป็นครูภูมิปัญญาสอนลูกหลานทำของเล่น ของใช้ตามความสนใจของเด็กๆและที่สำคัญคือตัดไผ่อย่างไร ให้พอดีเพื่อฤดูกาลหน้าจะได้มีกิจกรรมสนุกๆ แบบนี้อีก
“เราใช้ป่าไผ่เป็นห้องเรียนเพราะอยากให้เด็กๆ ซึมซับเรื่องการอนุรักษ์ และเห็นประโยชน์ของไม้ไผ่ เพราะในปัจจุบันไม้ไผ่ในชุมชนเริ่มน้อยลง โรงเรียนจึงฟื้นฟูป่าไผ่ดั้งเดิมที่พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ เคยมาช่วยกันปลูก ให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ในอนาคตเด็กๆ จะได้รู้คุณค่าของไผ่ว่ามีประโยชน์กับเขามากแค่ไหน” คุณครูใจสาย ทองประวิทย์ เล่าถึงจุดประสงค์ของการพาเด็กๆ มาเรียนรู้ที่ห้องเรียนไม้ไผ่
“ไผ่” พืชตระกูลหญ้า เติบโตรวดเร็ว พบเห็นได้ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา ป่าเขา ริมฝั่งแม่น้ำ รอบรั้วบ้าน หาไม่ยาก และมีคุณสมบัติน่ามหัศจรรย์ เพราะแทบทุกส่วนของไผ่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ทั้งสร้างที่พักอาศัย ทำเครื่องมือเครื่องใช้ และเก็บหน่อไว้กินไว้ขาย เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวิถีการกินการอยู่และวัฒนธรรมของคนไทยมาช้านาน
สำหรับสังคมชนบทในแถบภาคเหนือ มีไม้ไผ่เป็นพืชหลักสำหรับใช้สอย บ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างจากไม้ไผ่ เพราะเป็นวัสดุในท้องถิ่นที่หาง่าย และทำต่อๆกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษเด็กๆ ที่นี่จึงคุ้นเคยกับไผ่เป็นอย่างดี เพราะมีต้นไผ่รายล้อมรอบบ้าน มีชีวิตผูกพันกับไผ่ทุกวันทุกเวลา
“ในหมู่บ้านของหนูมีของใช้จากไผ่เยอะมากค่ะ ทั้งตะกร้า กระด้ง กระบุง โต๊ะเก้าอี้ ค้างปลูกผักปลูกต้นไม้ก็ใช้ไผ่ค่ะ แต่ถ้าจะทำไม้กวาดต้องใช้กิ่งไผ่รวกแห้งๆ มาทำเป็นส่วนปลายไม้กวาด เพราะว่าทนทานค่ะ”บูสึฉายแววตาเปี่ยมสุข เมื่อได้บอกเล่าคุณสมบัติของไผ่
คุณครูใจสาย มองว่ากิจกรรมห้องเรียนไม้ไผ่นี้มีประโยชน์ สามารถเป็นต้นทุนชีวิตให้เด็กๆได้มีทักษะความรู้ติดตัว และสามารถพึ่งตนเองได้
“เด็กๆ ค่อนข้างมีทักษะชีวิตที่ดีอยู่แล้ว ที่สำคัญคือเขามีองค์ความรู้เกี่ยวกับไผ่ ทั้งการเลือกใช้ไผ่ให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน ไผ่ชนิดไหนทำอะไรอร่อยครูเองก็อาจจะได้ไม่เก่งทุกเรื่องเด็กแต่ละคนก็ถนัดกันคนละด้าน กิจกรรมแบบนี้เปิดโอกาสให้ได้มาแลกเปลี่ยนทักษะ ครูเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมเด็กๆ ด้วย”
คุณครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านใหม่สามัคคี แม้จะเกิดคนละยุคสมัย แต่มุมมองของผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กๆได้รับรู้และภูมิใจในสิ่งที่ตนมี ก็เปิดช่องให้ทั้งสองวัยมาพบกัน ถ่ายทอดเรื่องราวเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างมีชีวิตชีวา
“ได้มาเรียนรู้เรื่องไม้ไผ่แบบนี้ ก็ทำให้เราได้รู้ว่ารอบๆ หมู่บ้านของเรามีอะไรดี ไม้ไผ่มีหลายชนิด ถ้ารู้จักก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่างเลยค่ะ”บูสึกล่าวทิ้งท้าย
ธรรมชาติใกล้ตัว แค่ลองมองก็จะพบคุณค่าอีกมากมายถือเป็นเรื่องน่ายินดีของเด็กๆ โรงเรียนบ้านใหม่สามัคคีที่มีกิจกรรมสร้างสรรค์จากสิ่งใกล้ตัวในชุมชน พื้นฐานการช่างคิดประดิษฐ์เหล่านี้อาจส่งผลให้เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคตโดยเริ่มต้นจากไผ่ต้นเล็กๆ