เชื่อหรือไม่ว่าชื่อดังต่อไปนี้เป็นชื่อพันธุ์มะม่วง... ขายตึก หลงหลิน พราหมณ์ตีเมียนางนวล สาวน้อยลืมผัว ตับเป็ด ชื่อเหล่านี้เป็นสายพันธุ์มะม่วงจากสวนมะม่วงเลื่องชื่อในจังหวัดฉะเชิงเทรา
“สวนลุงโมทย์”ตั้งอยู่ที่บ้านคลองเขื่อน ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่กว่า 30 ไร่ มีชื่อเสียงโด่งดังมาหลายปีในฐานะสวนผลไม้ที่เจ้าของได้รวบรวมเก็บรักษาพันธุ์มะม่วงพื้นบ้านไว้มากมาย
ปราโมทย์ วรชาติตระกูล หรือลุงโมทย์เจ้าของสวนผู้รักมะม่วงเป็นชีวิตจิตใจมักจะบอกกับคนที่มาเที่ยวชมว่า
”มะม่วงแต่ละพันธุ์ของสวนนี้ก็มีรสชาติต่างกัน ถ้าเราปลูกอย่างเดียว เราก็ได้กินอย่างเดียว ไม่ได้กิน ไม่รู้จักสายพันธุ์อื่นๆ คนที่เข้ามาเที่ยว มากินมะม่วงก็ได้ความรู้เรื่องความหลากหลายของสายพันธุ์กลับบ้านไปด้วย”
ด้วยแนวคิดที่อยากแบ่งปันความรู้ และความอร่อยของมะม่วงแต่ละพันธุ์ตลอดระยะเวลา10 ปีแม้จะผ่านอุปสรรคคือเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง ในปี 2554 และ 2556 มะม่วงพันธุ์หายากที่รวบรวมไว้ก็กลับหายไปสายน้ำ ต้องเริ่มใหม่ไม่รู้กี่ครั้ง แต่ก็สามารถผ่านมาได้ด้วยความตั้งมั่น ตั้งใจ วันนี้สวนลุงโมทย์มีมะม่วงมากกว่า 30 สายพันธุ์ไว้กิน ไว้ขาย อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ มีองค์ความรู้หลากหลายแขนงให้คนมาเที่ยวทดลองชิม ศึกษา เรียนรู้ รองรับทุกเพศทุกวัยที่สนใจเรื่องมะม่วง
นอกเหนือจากการเป็นสวนสวรรค์ของบรรดานักชิม ที่นี่ยังเป็นพื้นที่สีเขียวโล่งกว้างให้ลูกหลาน ตามติดพ่อ แม่ ปู่ ย่าเข้าสวนไปช่วยงานเล็กๆ ได้วิ่งเล่นเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้โลกธรรมชาติแสนสนุก
“หน้าที่ของหนูเวลาเข้าสวนกับปู่ก็คือช่วยเก็บมะม่วง ช่วยห่อมะม่วงตอนลูกเท่ากำปั้นมะม่วงของปู่อร่อย แล้วก็มีหลายพันธุ์ค่ะ ที่หนูจำได้ก็มีน้ำดอกไม้ ขายตึก แรด มหาชนก หลงหลินเจ้าลงกา ต้องสังเกตจากสี จากรูปร่าง ก็จะแยกแต่ละพันธุ์ออกค่ะ”น้องมิลค์กฤษณี เตียวเจริญ หลานสาวตัวจิ๋ววัย 8 ขวบของลุงโมทย์ หรือปู่โมทย์ฉายแววตาเปี่ยมสุข เมื่อได้บอกเล่าเรื่องราวของมะม่วงในสวนคุณปู่
“หนูชอบมะม่วงพันธุ์ขายตึกที่สุดค่ะ จะกินดิบ กินสุกก็อร่อย ที่ชื่อขายตึกก็เพราะว่าอร่อยมาก ใครกินก็อยากจะขายตึก มาซื้อที่ดินปลูกมะม่วงพันธุ์นี้ปู่บอกว่าเป็นมะม่วงพื้นบ้านของฉะเชิงเทราบ้านเราเองค่ะ”
เด็กๆเติบโตในบรรยากาศที่ดี สร้างสรรค์ให้เกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะได้ซึมซับรับรู้วิถีชาวสวนได้รู้จักมะม่วงขึ้นชื่อบ้านตนเองเรียกได้ว่าวิถีการเกษตรของครอบครัวสร้างการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ความสุขใจจึงเกิดขึ้นมากมายในสวนแห่งนี้