"เราจัดค่ายเด็กเล่าข่าวขึ้นมาเป็นปีที่ 5 แล้วค่ะ ปีนี้เราเห็นปัญหาของขยะ ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่เห็นชัดๆ คือที่บ้านของเรา ขนอม นครศรีธรรมราชค่ะ"
หมิง พุธิตา ไกรเสม ประธานสโมสรเยาวชนสำนักข่าวเสียงเด็ก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช จัดค่ายเด็กเล่าข่าวเป็นประจำทุกปี ปีนี้ค่ายเด็กเล่าข่าว นำการเรียนรู้เรื่องของการสร้างสื่อหลากหลายรูปแบบมาให้เด็กๆ เยาวชนที่สนใจ ได้ลองลงมือทำ มีทั้งการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook live การทำไวรัลคลิป รวมไปถึง การทำคลิปฟรีสไตล์ที่กำลังเป็นที่นิยมในสื่อออนไลน์เป็นอย่างมาก
“ผมมาค่ายนี้เป็นปีแรกครับ ผมว่ามันก็ไม่ค่อยยากครับ เพราะเราสามารถถ่ายด้วยกล้องมือถือที่ใช้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าส่วนที่ยากคงเป็นเรื่องการเขียนเรื่องครับ”
น้องขลุ่ย ด.ช.ทีราธร เจริญพานิช หนึ่งในเด็กที่มาร่วมกิจกรรมข่ายเด็กเล่าข่าว บอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้
แม้ว่าเวิร์คช็อปการสร้างสื่อให้กับเด็กๆ จะเป็นกิจกรรมหลักของค่ายครั้งนี้ แต่ประเด็นสำคัญที่หัวใจของสาระในสื่อ คือปัญหาขยะ ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายพยายามร่วมกันหาทางแก้ไขมาตลอด
พฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการกิน การใช้ กิจวัตรประจำวันต่างๆ เราสร้างขยะมากถึงวันละ 4 หมื่นตันหรือกว่า 27 ล้านตันต่อปี ซึ่งขยะส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทโฟมและพลาสติก ซึ่งมากถึง 2.7 ล้านตันต่อปี แม้จำนวนขยะจะมากจนน่าใจหาย แต่สิ่งที่น่าตระหนักที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ ระยะเวลาการย่อยสลายของขยะเหล่านี้ อย่างเช่น ขยะพลาสติกต้องใช้เวลาในการย่อยสลายกว่า 450 ปี และโฟม เป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ จึงชัดเจนว่า วิธีการแก้ปัญหาขยะที่ดีที่สุด ไม่ใช่การกำจัดขยะ แต่เป็นการลดขยะ นั่นเอง
ค่ายเด็กเล่าข่าวนี้ จึงใช้การเรียนรู้เรื่องการสร้างสื่อ จุดประกายให้เด็กๆ มีความตระหนักเรื่องของขยะ ในขณะที่เด็กๆ ลงมือถ่ายทำ เด็กๆ จะได้ซึมซับปัญหาที่เห็นด้วยตัวเอง สัมผัสด้วยตัวเอง เด็กๆ จึงมีความเข้าใจปัญหามากขึ้น สิ่งที่เด็กๆ จะได้จากค่ายนี้ จึงเป็นมากกว่าวิธีการทำสื่อ
“ขนอม บ้านเราเป็นเมืองทะเลค่ะ นักท่องเที่ยวมีมาก ขยะก็มากไปด้วย ตามชายหาด ตามรากโกงกางก็มีขยะให้เห็น สิ่งที่อยากให้น้องๆ ได้รับรู้ คือ สองมือของเรานี่แหละค่ะ ที่เป็นผู้เพิ่มจำนวนขยะ ถ้าเราไม่ช่วยกันลด” หมิงกล่าว
“ตัวผมเองที่ได้ไปถ่ายข่าวที่ตลาด ก็ได้เห็นขยะเยอะครับ ยิ่งถุงพลาสติกยิ่งเยอะ ทั้งตามโคนต้นมะพร้าว ใต้ร้านค้า …ตอนแรกที่มาค่าย ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องขยะมากเท่าไหร่ แต่พอได้ถ่ายทำ ผมก็เริ่มรู้สึกว่าขยะเยอะมากจริงๆครับ” ขลุ่ยกล่าวเสริม
ปัญหาขยะเป็นเรื่องใหญ่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่หลังน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ยังเป็นวิกฤต รวมถึงขยะตกค้างสะสมจนเป็นวิกฤต ติดอันดับ 2 ของประเทศ เด็กๆ เจ้าถิ่นรู้สถิติแล้วถึงกับอ้าปากค้าง
แม้นครศรีธรรมราช จะมีปัญหาเรื่องขยะที่น่าหนักใจ แต่จังหวัดอื่นๆ ในไทยก็มีปัญหามากเช่นกัน หลายหน่วยงานที่เห็นปัญหา จึงเริ่มเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา อย่างเช่น เมื่อ ปี 2558 ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในไทย งดการใช้ถุงพลาสติกในวันที่ 15 ของทุกเดือน ซึ่งมีสถิติออกมา พบว่าสามารถลดถุงพลาสติกได้มากถึง 2 ล้านใบภายในวันเดียว หรือบางห้างสรรพสินค้า หรือบางร้านค้า เริ่มมีการจำหน่ายถุงพลาสติก แทนการให้ฟรี ก็ช่วยลดปริมาณขยะได้เช่นกัน และล่าสุด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกในสถานพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป นี่คือการเคลื่อนไหวของผู้ที่ตระหนักเรื่องปัญหาขยะ ที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้ปัญหาขยะลดลงได้ในอนาคต