…ขนมทรงกลมใหญ่กว่าฝ่ามือ แผ่นแป้งบางๆ หลากสีโรยด้วยน้ำตาลอ้อย…
หากมองผ่านๆ และเทียบกับขนมที่เคยกินแล้วหลายๆ คน คงจะคิดว่ามันคล้ายกับข้าวเกรียบว่าว และขนมนางเล็ดมาผสมผสานกัน แต่ขนมชนิดนี้ เป็นขนมโบราณของคนตำบลดอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมาที่ใน 1 ปี จะได้ลิ้มรสเพียง 1 ครั้งเท่านั้นมีชื่อเรียกว่า.. “ขนมหูช้าง”
เรื่องน่าใจหายก็คือ นับวันคนที่ทำขนมหูช้างในชุมชนก็เริ่มเหลือน้อยลง เด็กยุคใหม่ รุ่นลูกหลาน รู้จักขนมหูช้าง เพราะเคยเห็น เคยชิม แต่ถ้าถามถึงที่มาของขนมชนิดนี้ รวมไปถึงขั้นตอนกระบวนการทำกลับไม่มีใครตอบได้ เพราะเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของการค้นหาเรื่องราวท้องถิ่นที่ซ่อนอยู่ในขนมหูช้าง
น้องมีนา เด็กหญิงทิพาวดี วงศ์ไตรรัตนกุลเล่าว่า “พวกเราเป็นสมาชิกกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนตำบลดอนค่ะ มีสมาชิกตั้งแต่พี่ๆ ชั้นมหาวิทยาลัย ถึงน้องๆ ชั้นประถมศึกษา ชวนกันลงพื้นที่ไปดูของดี ไปคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชน จนรู้ว่าชุมชนของเรายังมีเรื่องอะไรอีกหลายอย่างที่เด็กๆ อย่างพวกหนูไม่รู้จักค่ะ”
พี่ๆ แกนนำรุ่นโต ชักชวนน้องๆ เดินเข้าบ้านนู้น ออกบ้านนี่ ฟังเรื่องเล่าหาข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่หลายคนในชุมชนและรับรู้ว่าในชุมชนมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการสานปลาตะเพียน การทำขนมถ้วย และการทำขนมหูช้าง ช่วยกันเก็บข้อมูล ถอดสูตรฝึกฝน ฝึกทำ และได้รับรู้ว่า “ขนมหูช้าง” มีเรื่องราวพิเศษซ่อนอยู่ไม่น้อย
“ขนมหูช้างที่บ้านหนู มีที่อำเภอปักธงชัย กับอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้นค่ะสมัยก่อน1 ปี จะได้กินแค่ครั้งเดียวในช่วงเทศน์มหาชาติ แต่เดี๋ยวนี้อยากกินตอนไหนก็ทำได้ เพราะทำเป็นแล้วค่ะ”น้องข้าวฟ่าง สิริขวัญ นุชทอง เด็กหญิงตัวจิ๋วเล่าเรื่องขนมหูช้างอย่างภูมิใจ
ยายละเอียด ชูวาท์ เจ้าของสูตรขนมหูช้าง เปิดบ้านต้อนรับเด็กๆ ให้มาเล่น มาเรียน มาฝึกทำขนมเป็นประจำ ยายละเอียดมักเล่าให้ลูกหลานฟังเสมอว่าตอนยายเล็กๆ ก็เห็น ก็ช่วยแม่ทำขนมหูช้าง พอถึงช่วงเทศน์มหาชาติ ทุกบ้านก็จะเตรียมวัตถุดิบ อุปกรณ์สำหรับทำขนมหูช้าง เมื่อทำเสร็จก็จะเอาไปประดับประดาตกแต่งในกัณฑ์เทศน์ที่วัดใกล้บ้าน รวมกับขนมนางเล็ด และดอกจอก ยายละเอียดบอกว่านางเล็ด ดอกจอกเพิ่งจะมาทีหลัง แต่ขนมหูช้างบ้านเรายายเห็นรุ่นแม่เขาตกแต่งกัณฑ์เทศน์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ปัจจุบัน แม้ทุกบ้านจะไม่ได้ทำขนมหูช้างเหมือนแต่ก่อน บางบ้านสะดวกทำ บางบ้านสะดวกซื้อ แต่งานเทศน์มหาชาติของคนตำบลดอน ก็ไม่เคยขาดขนมหูช้างเลยสักปี
ข้าวฟ่างบอกว่า“ทำเป็นก็ดีใจค่ะ เพราะหนูไม่เคยรู้จักขนมหูช้างมาก่อนค่ะ เวลามีงานเทศน์มหาชาติก็ไม่ต้องซื้อแล้วค่ะ ทำเองได้ ได้บุญด้วยค่ะ”
“หนูก็อยากรู้อีกว่าชุมชนเรามีของดีอะไรบ้าง ที่เรายังไม่เคยไปเรียนรู้ แล้วอยากสอนน้องๆ รุ่นต่อไปให้รู้จักขนมหูช้างค่ะ“มีนาเล่าเสริม
บางสิ่งใกล้ตัวจนหลงลืมกันไป แค่ลองมองก็จะพบคุณค่าอีกมากมายจุดประกายความรัก และความภูมิใจในสิ่งดีๆ ในชุมชน แม้เด็กๆ ตำบลดอน จะเติบโตท่ามกลางกระแสความเจริญที่รุกหน้าเข้ามาแต่ผู้ใหญ่ในชุมชนยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมย้ำเตือนเด็กๆ รุ่นใหม่ให้ช่วยกันสืบสานต่อไป
“อยากรู้จักหูช้าง ต้องมาที่ตำบลดอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมานะคะ หนูจะพาไปชิมค่ะ”น้องข้าวฟ่างกล่าวทิ้งท้าย