บ้านคือสถานที่เริ่มต้นชีวิต ก่อกำเนิดความสุขและจินตนาการให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ยังไม่รู้ความจนเติบโต สภาพแวดล้อมพ่อแม่ ตลอดจนผู้คนรอบข้างต่างส่งผลต่อความคิดและแนวทางชีวิตของเด็กๆ เช่นกัน
ด.ญ.นโม เจียมภักดี เกิดและเติบโตในเวิ้งมาลัย เป็นลูกของแม่กุ้ง หรือ มาลัย สัญกาย เป็นผู้ก่อตั้งเวิ้งมาลัย ซอยวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ นั่นเอง แม่กุ้งรวมกลุ่มเพื่อนๆ ที่มีความสนใจด้านงานประดิษฐ์และสร้างสรรค์ศิลปะจากงานฝีมือ มาเปิดเป็นกลุ่มร้าน ให้คนที่ชื่นชอบมาซื้อหาและแลกเปลี่ยนความคิดกัน นโมจึงเกิดและแวดล้อมอยู่ท่ามกลางงานศิลปะสร้างสรรค์
ครอบครัวนโมเลือกการเรียนในแนววอลดอร์ฟ ที่บูรณาการการศึกษากับสิ่งแวดล้อม และความสนใจของเด็กตามพัฒนาการของวัย การท่องจำหนังสือหรือทำซ้ำๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำ ทางเลือกกิจกรรมจึงหลากหลายมากขึ้น
“โดยหลักสูตรของโรงเรียนเป็นการศึกษาแนววอลดอร์ฟ หลักสูตรแต่ละชั้นปีก็สนองพัฒนาการในวัยนั้นพอสมควรแล้ว โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องไปอัดว่าเสาร์อาทิตย์ต้องไปเรียนดนตรี ไปเรียนศิลปะเพิ่ม อันโน้นอันนี้ จังหวะของโรงเรียนกับหลักสูตรของโรงเรียนพอแล้ว วันหยุดก็ควรเป็นวันหยุดอย่างนี้ค่ะ เด็กควรได้เล่นเต็มที่” แม่กุ้ง กล่าวถึงการเรียนของนโม ที่ครอบครัวตัดสินใจร่วมกัน
วันธรรมดาจันทร์ถึงศุกร์ของนโมจึงไปโรงเรียนตามปกติ และมีการบ้านที่ต้องทำเหมือนกับเด็กๆ ทั่วไป แต่กิจกรรมวันหยุดเสาร์อาทิตย์นโมแบ่งเวลามาเล่นดนตรีกับคุณพ่อ 1 วัน และขอแม่ไปเรียน ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่ด้วยความสนใจของตัวเองอีกหนึ่งวัน
“กลองสะบัดชัยเอาไว้ตีตอนออกรบค่ะ หนูเคยไปแสดงสองครั้งที่ประตูท่าแพตอนงานป่าแหว่งค่ะ ฟ้อนที่เคยเรียนก็มี ฟ้อนก่ายลาย ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนนางโยน ฟ้อนไต ฟ้อนแง้น ฟ้อนร่ม ฟ้อนเล็บ แล้วก็อีกหลายอย่าง หนูเรียนมา 22 ฟ้อนแล้วค่ะ ” นโมเล่าถึงการเรียนตีกลองสะบัดชัยและฟ้อนต่างๆ ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาอย่างมีความสุข หลังเรียนจบทุกครั้งเด็กๆ หรือผู้ร่วมเรียนจะได้ไปแสดงจริงๆ ด้วย
โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เป็นแหล่งการศึกษาทางเลือกที่รวบรวมสรรพวิชาความรู้ จากพ่อครูแม่ครู และปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อ ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมให้ผู้สนใจ ได้เรียนรู้และ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของล้านนาไปยังคงรุ่นใหม่ ไม่ให้สูญหาย นโมและคุณแม่ได้มาเปิดร้านขายของที่กาดมั่วหรือตลาดนัดของโฮงเฮียนสืบสานฯ และมาชมการแสดงบ่อยๆ นโมได้เห็นความสวยงามของการแสดงแบบล้านนา จึงตั้งใจเรียนและลงหลายคอร์ส
“วันนี้มาเรียนฟ้อนผางกับครูปอนค่ะ มันจะยากกว่านิดนึงค่ะมันจะแบบมีย่อเยอะค่ะ ก็หนูชอบเรียนฟ้อนอยู่แล้วก็เลยมา วันนี้ก็ได้มาเรียนฟ้อน มาเล่นกับเพื่อนแล้วก็กลับบ้านค่ะ”
แม้จะเป็นกิจกรรมที่ทำซ้ำทุกเสาร์อาทิตย์ แต่บทเรียนในชีวิตไม่เคยซ้ำสำหรับเด็กๆ ท่ารำ การเล่นกับเพื่อน หรือการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวจากครอบครัวที่รักงานประดิษฐ์ ก่อเกิดเป็นกิจกรรมในแบบที่พอเหมาะพอดีกับครอบครัว และลงตัวกับคนรอบข้าง จนนโมได้เติมเต็มความสุขให้ตนเอง และคนรอบข้าง อยากติดตามเรื่องราวของ ด.ญ.นโม แห่งเวิ้งมาลัย ติดตามได้ในรายการทุ่งแสงตะวันตอน “ดวงใจ นโม” วันเสาร์ที่ 5 มกราคม 62 นี้ ทางช่อง 3 ช่อง 33 เวลา 6.25 น. อย่าพลาดชม