ไปตามตะวัน… ชีวิตลูกทะเลเมืองจันท์

ธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของทั้งมนุษย์ และสัตว์น้อยใหญ่ที่ต่างพึ่งพาอาศัย หาอยู่หากิน หลายสิ่งอย่างที่ได้จากธรรมชาติ คนที่ผูกพัน พึ่งพารู้ดีว่านั่นคือของขวัญล้ำค่าที่ธรรมชาติมอบให้

บ้านหัวแหลม อ.นายามอาม จ.จันทบุรี เป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างในการช่วยกันดูแลคลังอาหาร
มีอ่าวคุ้งกระเบนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม ผู้คนที่นี่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านทำมาหากินแบบเกื้อกูลกับระบบนิเวศในชุมชนของตนในอดีตชาวบ้านใช้ทรัพยากรจากท้องทะเลโดยไม่มีกติกาใดๆ จำนวนคนเพิ่มขึ้นการใช้สอยก็เพิ่มขึ้นตามมา จนกระทั่งเริ่มมองเห็นผลกระทบระยะยาวที่จะเกิด จึงหันมาร่วมแรงกาย แรงใจ และพลังความคิดปกป้องทะเลหน้าบ้าน

03
01
11

คุณเก๊านิวัติ ธัญญะชาติ เล่าว่า “หลายปีก่อนช่วงฤดูกาลปูม้าจากที่ชาวบ้านเคยหาได้ตลอด3 เดือน กลับไม่มีบ้านไหนหาปูม้าได้เลย จึงพากันไปศึกษาเรียนรู้หาแนวทางแก้ไขที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ก็พบว่าเมื่อก่อนเราได้ปูม้า เราก็ขายหมด ต้มหมด จริงๆ แล้วในนั้นจะมีแม่ปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง ไข่ของเขานั้นมหาศาลประมาณ 3 แสนตัวถึง 3 ล้านตัว

เราจึงตั้งกติการ่วมกันว่าใครออกเรือแล้วได้ปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง ก็จะต้องมีขั้นตอนการเขี่ยไข่ปูออก ช่วยกันเพาะเลี้ยงอนุบาล ก่อนนำไปปล่อยสู่ทะเล

08
05
04

จัดตั้งธนาคารปูม้า เพียงไม่นานทะเลหน้าบ้านก็ฟื้นตัว ปูม้าที่เคยห่างหายกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งผ่านมา 10 กว่าปีวันนี้คนบ้านหัวแหลมเข้าร่วมกลุ่มอนุรักษ์เข้มแข็งทุกครัวเรือน มีกติการ่วมกันในการจับและดูแลสัตว์น้ำ จากที่เคยหาปูม้าได้ 3 – 4 เดือนต่อปี ทุกวันนี้คนบ้านหัวแหลมสามารถจับปูม้าได้ตลอดทั้งปี มีกิน มีใช้ มีรายได้จากปูม้าทุกวัน

เมื่อทะเลสมบูรณ์ ก็มีอาหาร สำหรับเด็กๆแล้วยังเป็นพื้นที่เล่นสนุก รื่นรมย์ด้วย

ตะวัน ชัยธร ธัญญะชาติเด็กชายวัย 11 ขวบ ลูกชายคนเล็กของพ่อเก๊าแววตาประกายสดใส
บอกเล่าด้วยรอยยิ้ม“เวลาว่างๆ ผมก็จะออกเรือไปหาหอย ตกปลาบ้าง ตกหมึกบ้าง บางทีก็ไปดำน้ำดูปะการัง เก็บขยะในทะเลกับพ่อถ้าอยู่บ้านเวลาที่เรือปูเข้ามา ผมก็จะช่วยพ่อกับแม่เขี่ยไข่ปู เอามาเพาะเลี้ยง พอเริ่มโตก็จะปล่อยลงทะเลครับ”

ตั้งแต่ 3 ขวบ เด็กชายตะวันก็ติดตามพ่อเก๊าไปทำกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะออกทะเล หาอยู่หากินตามวิถี ฝึกฝนว่ายน้ำ และขับเรือจนเชี่ยวชาญอีกทั้งกิจกรรมการอนุรักษ์ของชุมชนไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศนอกจากนี้ตะวันยังสนใจฝึกฝนการดำน้ำลึกแบบ Scuba Divingเป็นผู้ช่วยตัวน้อยของพ่อเก๊าไปเก็บขยะในทะเล และลงไปติดตั้งบ้านปลาถึงกลางทะเลอีกด้วย

นอกจากธนาคารปู หมู่บ้านของเราก็มีการอนุรักษ์สัตว์น้ำหลายอย่างครับ เช่นการขยายขนาดตาอวน เพื่อให้ปูเล็กหรือปลาเล็กรอดออกไปได้ จะได้แต่ตัวใหญ่ๆ แล้วก็การทำบ้านปลา หรือที่เรียกว่าซั้งเชือกด้วยครับ

“ซั้ง” เป็นภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน บางท้องถิ่นอาจทำจากเถาวัลย์ ไม้ไผ่ หรือทางมะพร้าว ช่วยดึงดูดสัตว์น้ำให้มาอยู่รวมกัน ปลาขนาดเล็กก็จะมาอาศัยร่มเงา ปลาขนาดใหญ่ก็มาติดตามหาอาหาร หลายๆ พื้นที่ก็ได้นำซั้งมาปรับประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์ให้สัตว์นํ้าเข้ามาอาศัย เพาะพันธุ์ วางไข่ เจริญเติบโต และขยายพันธุ์ต่อไป เช่นที่บ้านหัวแหลมแห่งนี้

“เวลาอยู่ในทะเล ซั้งเชือกก็จะคล้ายๆ กับใบไม้หรือพุ่มหญ้าครับ ปลาก็จะเข้าไปหลบซ่อน ไปวางไข่ พอเห็นว่าที่เราช่วยกันเอาซั้งไปวาง แล้วปลามันเข้ามาอาศัยจริงๆ ก็รู้สึกดีใจ  ปลาก็เหมือนคนใครๆ ก็รักชีวิต ปูก็รักชีวิต ปลาก็รักชีวิต หมึกก็รักชีวิต เราไปจับเขากินก็ต้องอนุรักษ์เขาด้วย

เมื่อทะเลสมบูรณ์ มีธรรมชาติเกื้อกูล สะท้อนความสัมพันธ์การพึ่งพาระหว่างคน สัตว์ และท้องทะเล  ตลอดจนเชื่อมโยงไปถึงการดูแลรักษาให้คงอยู่ และยั่งยืน

พ่อเก๊า ยิ้มอย่างภูมิใจทุกครั้งที่เห็นตะวันมีชีวิตสัมพันธ์กับทะเล“ดีใจที่เขา ชอบทะเล แค่เขารู้สึกอยากมาเที่ยวเล่น มาทำกิจกรรมก็ดีแล้ว แล้วเขาก็จะดูแลเอง”

ตามเด็กชายตะวัน ไปสัมผัสชีวิตลูกทะเลเมืองจันท์  และเรื่องราวการดูแลทรัพยากรของชุมชน
ในทุ่งแสงตะวันเสาร์ที่ 23 มีนาคมนี้ เวลา 6.25 น. ทางช่อง 3 ช่อง 33 ร่วมแลกเปลี่ยนได้ทางFacebook ทุ่งแสงตะวัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *