หัวใจบูโด : เด็กๆคือความหวัง

สองสามปีที่ผ่านมามีข่าวคราวสะเทือนใจคนรักป่ารักนกเงือกอยู่เป็นเป็นระยะ แต่ข่าวล่าสุดที่อยู่ในความสนใจของผู้คนก็คือข่าวการล่านกชนหินเอาโหนกตามใบสั่ง โหนกนกชนหิน มีมูลค่าสูงกว่างาช้างหลายเท่า ยิ่งหายากก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ และราคาก็พุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

วิธีการล่าพัฒนาจากการจับตัวเป็นๆ มาถึงการซุ่มยิงในขณะที่นกกำลังเพลิดเพลินกับการกินลูกไม้ในมื้ออาหารอันแสนสุข นกชนหินเป็นนกเงือกที่เพิ่มจำนวนประชากรได้ยากมาก ในฤดูทำรังปีหนึ่ง มันออกลูกได้ครั้งละเพียง 1 ตัว ในขณะที่จำนวนประชากรนกชนหินที่เทือกเขาบูโดก็มีอยู่น้อยมาก ไม่ถึง 20 คู่ เป็นการดีหากมีการประกาศให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนโดยเร็ว ก่อนที่จะไม่มีนกชนหินให้อนุรักษ์ ในปัจจุบันนกชนหินอยู่ในภาวะวิกฤตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากการล่า และที่สำคัญการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน

010
01
02

นกชนหินต้องการต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงสำหรับทำรัง ฟักไข่ เพิ่มจำนวนประชากร แต่ต้นไม้ใหญ่ในป่าทุกวันนี้เหลืออยู่น้อยมาก และไม่ใช่ทุกต้นที่จะมีโพรงให้นกทำรัง

นอกจากนกชนหิน เทือกเขาบูโดยังมีนกเงือกหายากอีก 5 ชนิด ได้แก่ นกเงือกหัวแรด นกกก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกหัวหงอก นกกาเขา หากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นล้มลง พวกมันจะไปทำรังฟักไข่ได้ที่ไหน ดังนั้นการเฝ้าระวังป่าไม้จึงสำคัญ เมื่อนกมีบ้านมีรังอุ่น พวกมันจะสามารถเพิ่มประชากร ได้นักปลูกป่าเพิ่มขึ้นมากมาย ปลูกป่าให้เราโดยไม่คิดมูลค่าทุกวันทุกวัน  ไปจนชั่วชีวิต

09
05
07

โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ทำงานกับชุมชนรอบเขาบูโดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 พลังของความจริงใจและทำงานจริง ทำให้โครงการฯมีแนวร่วมที่แข็งแรง เป็นชาวบ้านรอบๆเทือกเขาบูโด ซึ่งกินอาณาบริเวณไม่น้อยในเขตจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส บางคนเป็นเคยคนลากไม้ เคยล้วงลูกนก บ้างก็เป็นพรานดักนก ล่าสัตว์ป่ามาก่อน หันมาเป็นนักอนุรักษ์ มาช่วยกันสอดส่องป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือก และเฝ้ารออย่างมีความหวังให้พวกมันขยายเผ่าพันธุ์  ระยะเวลายาวนาน พอที่จะทำให้เด็กๆรุ่นแล้วรุ่นเล่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีทายาท รับรู้การทำงานอนุรักษ์นกเงือกของพ่อแม่ เด็กๆเหล่านี้จึงรู้จักนกเงือกตั้งแต่เล็กแต่น้อย และจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่า ปกป้องดูแลถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกเทือกเขาบูโดต่อไป

เด็กๆที่หมู่บ้านปาโจ หนึ่งในหมู่บ้านแนวร่วมอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด มักจะมีโอกาสติดตามผู้ใหญ่และนักวิจัยขึ้นเขา ในฤดูซ่อมแซมโพรงรังให้นกเงือก เด็กๆได้เห็นการทำงานอนุรักษ์ การทำงานช่วยเหลือนกเงือกให้มีที่ทำรังในหลายมิติ รวมทั้งลงมือช่วยงานเล็กๆน้อยๆ

เด็กชายอับดุลเลาะห์ โต๊ะมิง ป.6 บอกว่า “ที่ชอบขึ้นเขา เพราะตื่นเต้นที่ได้เห็นนกเงือก เหนื่อยเหมือนกันแต่ไม่มาก”  หากอับดุลเลาะห์รู้ว่าวันไหนจะได้ขึ้นเขา เด็กน้อยจะตื่นเต้นจนแทบไม่หลับไม่นอน เฝ้ารอให้เช้าเร็วๆ

ส่วนฟุรกอน มะลีมิง กำลังย่างเข้าวัยรุ่นตอนต้น เขารักนกเงือก บอกว่า “ชอบนกเงือกหัวแรดที่สุด เพราะสีสวยและหายาก”

เด็กๆค่อยๆซึมซับความเป็นนักอนุรักษ์ แนวทางทำงานเพื่อนกเงือก รับรู้เรื่องราว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนกเงือก และเห็นความสำคัญของนกเงือกที่มีต่อตนเอง ต่อป่า และต่อชุมชน และที่สำคัญพวกเขารู้ว่า การรักษาต้นไม้ใหญ่และถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือก คือสิ่งสำคัญที่สุดในการอนุรักษ์นกเงือกให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

“ในฤดูซ่อมโพรงจะมีเด็กๆตามขึ้นเขากันมาก เขาได้สนุกและได้เรียนรู้ไปด้วย พวกเขาจะเป็นรุ่นต่อๆไปที่จะมาสานต่อตรงนี้” คุณปรีดา เทียนส่งรัศมี นักวิจัยโครงการศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวอย่างมีความหวัง …เด็กๆคือความหวัง คือหัวใจของบูโด…

พบกับเรื่องราวของเด็กรักนกเงือก หมู่บ้านปาโจ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส รู้จักนกเงือกหายากแห่งเทือกเขาบูโด ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน เพื่อนนกเงือก ทางช่อง 3 เสาร์นี้ 2 พฤศจิกายน 2562 เวลาใหม่ 05.05 น. กดช่อง 33 ให้กำลังใจเด็กๆกันค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *