“เพิ่งเคยหาปลาเองครั้งแรกครับ อยู่บ้านมีแต่ไปซื้อที่ตลาด ได้มาสัมผัสความลำบากแบบนี้ สนุกมากครับ”คำบอกเล่าของน้องเปรม เด็กชายรัฐภูมิ อิ่มนารี อายุ 11 ปี ระหว่างล้อมวงรับประทานอาหารกับเพื่อนๆ
เปรม และเพื่อนๆ เดินทางมาจากบ้านโนนศรีสง่า อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เช่นเดียวกันกับเพื่อนๆ อีกหลากรุ่น หลายวัยกว่า 40 คนที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศ ทั้งอุทัยธานี กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครสวรรค์ กำแพงเพชร นครราชสีมา และชัยภูมิ รวมตัวเข้าร่วมค่ายเอาตัวรอดที่ไร่ลุงคิงคอง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานีเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ลูกเกด เด็กหญิงฐิติกานต์ แห้วเพ็ชรอายุ 10 ปี ลูกเกดเป็นลูกหลานคนบ้านไร่ จ.อุทัยธานี หนึ่งในเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมค่ายเอาตัวรอดบอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้“วันนี้พวกเราต้องทำกับข้าวกินเองค่ะแต่ละกลุ่มจะมีน้ำให้กลุ่มละ 1 ถัง ข้าวสารคนละถุง แล้วก็มีหม้อกระทะ อุปกรณ์จุดไฟก็มีด่างทับทิม แล้วก็น้ำตาลทรายค่ะ แบ่งเป็น 2 มื้อคือมื้อกลางวัน และมื้อเย็น
เราก็จะแบ่งหน้าที่กัน ผู้หญิงมีหน้าที่ไปหาผัก หาผลไม้ หาไข่ไก่ ส่วนผู้ชายมีหน้าที่หาปลา หาปู แล้วก็ถ้วยใส่น้ำที่ทำจากไม้ไผ่ค่ะ”
“ค่ายเอาตัวรอด”เป็นค่ายที่ชวนเด็กๆ ทำความเข้าใจ และรับมือกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงที่กำลังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คน สัตว์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั่วโลกทั้งสภาพอากาศ ร้อนจัด หนาวจัดเกิดพายุ อุทกภัย ไฟไหม้ แห้งแล้งโรคระบาด
ชวนเด็กๆ มาฝึกทักษะลองใช้ชีวิตกลางแจ้งผ่านสถานการณ์จำลองไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศพัดลม โทรทัศน์ ตู้เย็น มีเพียงพลังงานจากโซลาเซลส์ที่ให้แสงสว่าง
เรียนรู้วิธีหาอยู่หากินกับพืชผักผลไม้ และธรรมชาติรอบตัว ทดลองก่อไฟ ปรุงยาสมุนไพรไว้ใช้ยามฉุกเฉิน รู้จักกับดักสัตว์ หาปู หาปลาในแหล่งน้ำและปลูกผัก ทำความรู้จักเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านอันหลากหลาย ผ่านกิจกรรมทั้ง 4 ฐาน นั้นคือ อาหาร, หยูกยา, พรานป่าพรานปลา และเพาะปลูก เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน
ลูกเกดบอกว่า “หนูชอบฐานเพาะปลูกค่ะ ได้รู้จักผัก รู้จักต้นไม้ ต้นไม้ช่วยเราได้หลายอย่าง ช่วยให้อากาศดี ไม่ร้อนหนูชอบต้นไม้แล้วก็อยากลองปลูกผักกินเองที่บ้านค่ะ”
เมื่อเด็กๆได้มาเห็น มาสัมผัสด้วยตัวเอง นอกจากทักษะชีวิตที่จะได้ติดตัวกลับไปแล้ว สิ่งหนึ่งก็คือยิ่งทำให้เข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่ต้องช่วยกันดูแลเหมือนคนในครอบครัว ความคิดเล็กๆ ความรู้สึกรักและหวงแหนธรรมชาติ จะนำไปสู่การช่วยกันดูแลรักษาอย่างยิ่งยืน
เอิง เด็กหญิงวัชราภร พรไตร อายุ 13 ปี พี่ใหญ่จากอ.แม่เปินจ.นครสวรรค์เล่าว่า“หนูคิดว่าวันหนึ่งโลกของเราอาจต้องเจอกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ค่ะ เพราะว่าเราใช้ทรัพยากรกันอย่างฟุ่มเฟือยมากๆ ถ้าวันนั้นมาถึงจริงๆ ก็ไม่กลัว แต่จะเตรียมพร้อมรับมือ เราพอมีความรู้เรื่องหาอาหาร ปรุงยาบ้างแล้ว อาจจะรอด หรือช่วยคนอื่นๆ ได้บ้าง แต่หนูคิดว่าเด็กตัวเล็กๆ อย่างหนูก็ช่วยโลกได้ตั้งแต่วันนี้ ด้วยการไม่สร้างขยะ ไม่เผาขยะ ไม่เผาป่า นำความรู้ไปบอกเพื่อนๆให้ช่วยกันปลูกต้นไม้เยอะๆค่ะ”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากการเรียนรู้ผ่านกระบวนการค่ายเอาตัวรอด ติดตามชมค่ายแสนสนุกของเด็กๆได้ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน เด็กเอาตัวรอดวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน เวลา 05.05 น.ทางช่อง 3 กด33 ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ทาง www.payai.com หรือ เฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน