ลุ่มน้ำคลองยัน ครอบคลุมเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และระนอง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีครอบคลุมพื้นที่กว่า 4 อำเภอ ได้แก่คีรีรัฐนิคม วิภาวดี ไชยา และท่าฉาง ในจังหวัดระนอง ครอบคลุมตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์
ด้วยความยาวกว่า 70 กิโลเมตร ลุ่มน้ำคลองยัน จึงเป็นสถานที่รวมตัวของผู้คนหลายรุ่นหลายวัย เปรียบดังสวนน้ำธรรมชาติกลางป่าเขาเล่นสนุกเพลิดเพลิน กระโดดโลดเต้น แหวกว่ายสบายใจโดยมีผู้ใหญ่ดูแลไม่ห่าง หากนึกย้อนวันวาน ผู้ใหญ่ทุกคนก็ล้วนแล้วแต่มีความทรงจำ และความผูกพันกับลุ่มน้ำคลองยันดั่งเส้นเลือดใหญ่ที่ค่อยหล่อเลี้ยงผู้คนริมฝั่งมานานหลายชั่วอายุคน
หลายปีก่อน คนริมฝั่งเกือบจะสูญเสียเส้นเลือดเส้นสำคัญ จากโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งกรุง เพื่อผลิตไฟฟ้า บริเวณที่ดินป่าท่าชนะ และป่าเตรียมการสงวนคลองสก – คลองแสง – คลองยัน แต่จากบทเรียนความสูญเสียที่เกิดกับอุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง หลังจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานส่งผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งปัญหาน้ำเสีย ปัญหาการสูญเสียที่ดินของชาวบ้าน พื้นที่ป่าหลายแสนไร่ที่จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า มนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อคัดค้าน จนในที่สุดในปี 2533 โครงการดังกล่าวได้ถูกยกเลิก
หลายปีก่อน คนริมฝั่งเกือบจะสูญเสียเส้นเลือดเส้นสำคัญ จากโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งกรุง เพื่อผลิตไฟฟ้า บริเวณที่ดินป่าท่าชนะ และป่าเตรียมการสงวนคลองสก – คลองแสง – คลองยัน แต่จากบทเรียนความสูญเสียที่เกิดกับอุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง หลังจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานส่งผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งปัญหาน้ำเสีย ปัญหาการสูญเสียที่ดินของชาวบ้าน พื้นที่ป่าหลายแสนไร่ที่จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า มนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อคัดค้าน จนในที่สุดในปี 2533 โครงการดังกล่าวได้ถูกยกเลิก
นับเป็นโชคดีของเด็กๆรุ่นใหม่ ที่พ่อแม่ปู่ย่าได้ช่วยกันปกปักรักษาผืนป่า และลุ่มน้ำ ทำให้วันนี้ยังคงมีสายน้ำเย็นๆ ให้ได้เล่นสนุก รวมไปถึงการส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้คุณค่าของลุ่มน้ำคลองยัน
จากการรวมตัวร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง นำมาสู่“กลุ่มเด็กและเยาวชนอนุรักษ์ภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน”อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานีรวมกลุ่มทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ เริ่มต้นจากสื่อสารเรื่องเกษตรธรรมชาติ ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการลดใช้สารเคมี ขยับขยายเป็นกิจกรรมเพื่อให้เห็นสภาพปัญหาในบ้าน เช่น การทิ้งขยะลงคลอง การพังทลายของหน้าดินริมตลิ่ง การจับปลาผิดวิธีการเก็บขยะ สืบค้นเรื่องต้นไม้ วิถีชีวิต การลงสำรวจแม่น้ำลำคลอง
กิจกรรมสำรวจระบบนิเวศของลุ่มน้ำคลองยัน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมขาประจำที่แวะเวียนมาบ่อยๆ ในช่วงวันหยุด เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และทำความรู้จักว่าภายใต้สายน้ำ และโขดหิน มีสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่บ้าง
“ใครได้หินแล้วนั่งลง” เสียงตะโกนแข่งกับเสียงสายน้ำไหล ของเมติมา ประวิทย์ หรือพี่เมย์ของเด็กๆหนึ่งในแกนนำกลุ่มเด็กและเยาวชนอนุรักษ์ภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน ทำให้เด็กๆ ที่กำลังดําผุดดําว่าย คุ้ยเขี่ย
ก้อนหิน เงยหน้าขึ้นเหนือน้ำ ถือก้อนหินที่ถูกเลือกสรรไว้ในมือ และนั่งลงรอส่งผลงาน
“ตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำอาศัยในบริเวณที่น้ำไหล พื้นใต้ล่างเป็นก้อนหินสร้างปลอกหุ้มห่อลำตัวที่มีลักษณะเป็นรังช่วยในการป้องกันศัตรู”พี่เมย์กำลังอธิบายถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋ว ที่อยู่ใต้ก้อนหิน ในมือของเด็กๆ ว่ามีชื่อเรียก และอาศัยอยู่บริเวณใด เป็นการเรียนรู้ควบคู่กับการเล่นสนุก ที่จะทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับ และเห็นความสำคัญของระบบนิเวศลุ่มน้ำ เพราะสิ่งมีชีวิตหรือตัวอ่อนเหล่านี้จะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้หากแม่น้ำไม่มีความสะอาดมากพอ
นอกจากนี้ในทุกๆ ปีคนลุ่มน้ำ จะร่วมกันจัดงานใหญ่ ใช้ชื่อว่า “งานสืบชะตาแม่น้ำคลองยัน” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 20 กลุ่มเด็กและเยาวชนอนุรักษ์ภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยันมีบทบาทในการจัดเตรียมงานในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงทุกคนในชุมชนต่างมารวมตัวกันลงแรงร่วมใจ ประสานความร่วมมือช่วยกันตระเตรียมงาน
“มีคนมาช่วยจัดงานมากมาย ทั้งช่วยกันปักป้ายบริเวณงาน นำฟางมาตั้งตกแต่ง ขนเต็นท์ ทำอาหาร ผมเองรู้สึกภูมิใจและดีใจที่ทุกคนมาช่วยเหลือกัน” เด็กชายจักรรินทร์โสมะเกิด หรือน้องจักร สมาชิกตัวน้อยของกลุ่มบอกเล่าความรู้สึก
งานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณสายน้ำ ที่ช่วยให้คนริมฝั่งได้มีแหล่งหาอยู่หากิน ใช้อุปโภคบริโภค
ทั้งในครัวเรือนและการเกษตร รวมถึงเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่งหลังได้ตระหนัก เกิดความรัก ความหวงแหน ในลุ่มน้ำที่เป็นสายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงทุกคนริมฟังมาอย่างยาวนานหลายสิบปี
ติดตามวิถีชีวิต ความผูกพันของคนกับสายน้ำคลองยัน และงานสืบชะตาขอบคุณสายน้ำ วันเสาร์ที่ 18 เมษายน 2563 เวลา 05.05 น.ช่อง 3 กด 33 ติดต่อทีมงานรายการได้ทางแฟนเพจFacebook ทุ่งแสงตะวัน