ห้องเรียนใหญ่ จาก(ใน)ใจเด็ก

สิ่งธรรมดา ธรรมชาติรายรอบตัวล้วนมีคุณค่า เด็กๆ โรงเรียนวัดประสิทธาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีธรรมชาติใกล้ตัวเป็นห้องเรียนห้องใหญ่ เปิดตา เปิดใจเรียนรู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ป่าจาก” หลายสิบไร่โอบรอบชุมชน วัด และโรงเรียนเล็กๆ ไว้ เป็นแหล่งขุมทรัพย์ชายฝั่งที่หล่อเลี้ยงผู้คนชุมชนใกล้ป่าจากมาหลายชั่วอายุคน มีชีวิตสัมพันธ์กับต้นจากทุกวันทุกเวลา

“ต้นจากช่วยกั้นลม ช่วยยึดตลิ่ง พวกปู ปลา กุ้ง หอยตัวเล็กๆ หลบอยู่ในต้นจากด้วยครับ ใบจากก็ทำเป็นหลังคาบ้านได้ ห่อขนมได้ ดอกจาก ลูกจากก็กินได้ครับ อร่อยดี ผมชอบ” น้องเจ บัลลังก์ จงศรี เด็กชายชั้นประถม 5 บอกเล่าประโยชน์ของจากขณะกำลังพายเรือไปตามคลองหลังโรงเรียน

น้องเจ บัลลังก์ จงศรี
จอดเรือเทียบ แล้วสับอย่างใจเย็น

เด็กๆ ยิ้มแย้มดีใจเมื่อได้มาเที่ยวป่าจาก มาพร้อมภารกิจสำคัญคือการออกตามหาลูกจาก เด็กๆ ลงเรือพายลัดเลาะไปตามคลองเล็กคลองน้อย แต่ละคนดูเชี่ยวชาญ ช่วยกันมองหาทะลายที่ใช้ได้พอเหมาะ พายเรือเข้าเทียบและใช้มีดพร้าตัดทะลายจากได้อย่างคล่องแคล่ว

จากท้ายโรงเรียน

“ต้นจากมีประโยชน์ทุกส่วนเลยครับ กินเนื้อด้านในแล้ว เปลือกยังใช้ได้เลย หรือทะลายไหนลูกจากแก่ไป
กินไม่ได้แล้ว เปลือกยังใช้ได้ครับ”

เมื่ออยู่ใกล้จากก็ต้องรู้จักจาก

อีกหนึ่งกิจกรรมที่เด็กๆ ชื่นชอบคือการที่คุณครูเชื้อเชิญออกแบบการเรียนรู้ ชวนเด็กๆ ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ทดลองลงมือย้อมผ้าจากเปลือกจาก

เด็กหญิงอัญชลี แสงทอง หรือ น้องต้นอ้อ นักเรียนชั้นป.2 เล่าว่า “เวลาเห็นผ้ามัดย้อมหนูภูมิใจในตัวเองมากค่ะ เพราะสีมันสวย และหนูก็เป็นคนทำเองด้วยค่ะ”

 

เด็กหญิงอัญชลี แสงทอง ต้นอ้อ
06

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ฝันร้ายเกิดขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้ เมื่อทั้งโรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 10 ชีวิต จึงทำให้ประสบปัญหาคล้ายโรงเรียนเล็กๆ ทั่วประเทศ นั่นคือ..ถูกเสนอให้ยุบโรงเรียน คณะครูและเด็กๆ ถูกจัดสรรกระจายไปยังโรงเรียนใกล้เคียง

หลายเดือนผ่านไป ปัญหามากมายก็เกิดขึ้น ทั้งค่าใช้จ่าย เสียเวลาในการเดินทาง เด็กๆ ลูกหลานต้องห่างจากหมู่บ้านไปไกล อีกทั้งผู้ปกครองกับครูไร้ความสัมพันธ์ ไม่ใกล้ชิดเท่าที่ควร ชาวบ้านในชุมชนจึงรวมตัวเรียกร้องให้โรงเรียนมีการเรียนการสอนเช่นเดิม เครือข่ายคนทำงานด้านการศึกษาในจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงมารวมตัวช่วยกันหนุนนำและช่วยกันจัดการเรียนการสอนแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน

เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรครู ชาวบ้านหลายคนจึงอาสามาช่วยสอนลูกหลาน วิชาเรียนของเด็กๆ จึงมีความพิเศษ “จาก” พืชชายเลนที่มีอยู่รอบโรงเรียนจึงเป็นสิ่งล้ำค่า เมื่อสอดแทรกอยู่ในแทบทุกวิชา บูรณาการเป็นบทเรียนแสนสนุกและมีความหมาย

“อีก 10 ปีข้างหน้าผมก็อยากเห็นสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลาใน บ้านเรา จะได้หากินกันได้ อยากให้ป่าจากมีเยอะๆ แบบนี้ เพราะ ลมเย็น บรรยากาศดี อยากขอบคุณต้นจากในความอร่อยและช่วยให้เราย้อมผ้าได้ครับ” เจกล่าวทิ้งท้าย

เด็กๆ ในพื้นที่ได้เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน พ่อแม่หายห่วงเพราะลูกหลานอยู่ใกล้ตัวใกล้สายตา มีชาวบ้านแวะเวียนมาเป็นคุณครูอาสา สอนวิชาชีวิตที่ใช้สิ่งที่อยู่ในชุมชนมาเป็นบทเรียน เด็กๆ ที่นี่จึงมีความรู้และทักษะพิเศษที่หาไม่ได้ในโรงเรียนใหญ่

ติดตามเรื่องราวของเด็กๆ โรงเรียนริมคลอง ความเข้มแข็งของชุมชนที่ทำให้โรงเรียนเล็กๆ ที่เกือบจะหายไปกลับมาเปิดสอนได้อีกครั้ง ในทุ่งแสงตะวัน ตอน เรียนจากจาก เวลา 05.05 น. ช่อง 3 กด 33 และทางเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน เวลา 07.30 น.

ชมคลิปตัวอย่าง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *