
วันหนึ่งเมื่อไฟไหม้ป่าในพื้นที่ปลูกป่าและอนุรักษ์ ภูหลง ภูแลนคา
น้องเกล ธันชนก พรมมา ตาม ปู่วิชัย นาพัว กับสมาชิกชมรมเด็กรักนกรักธรรมชาติท่ามะไฟหวานไปช่วยดับไฟป่า เมื่อไฟมอดทิ้งเรื่องราวไว้มากหลาย


ปู่หลานลองนำขี้เถ้าไฟป่ามาพิจารณา เพราะมีแรงบันดาลใจว่าอยากจะทำโครงการวาดภาพด้วยสีแบบโบราณร่วมกับศิลปินระดับปรมาจารย์ คือ อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง อ.สมภพ บุตราช กับคณะ เป็นการฟื้นฟูเขียนภาพแบบศิลปกรรมไทยโบราณโบสถ์วัดภูเขาทอง บ้านท่ามะไฟหวาน ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ในนามศิลปิน “กลุ่มจิตรกรไทย” และเครือข่ายศรัทธา นักกิจกรรมสังคมอีกหลายกลุ่ม
การทำงานวาดภาพผนังโบสถ์ด้วยสีฝุ่นแบบโบราณนี้เริ่มโดยเตรียมพื้นผิวผนัง คือล้างผนังโบสถ์ เพื่อลดความเป็นด่างของปูน ด้วยน้ำต้มขี้เหล็ก ต้องอาศัยความเพียรและความตั้งใจอย่างมากจากฆราวาสและศิลปินรวมทั้งชาวบ้าน

ล้างผนังปูนสูตรผสมเอง ใช้น้ำใบขี้เหล็กต้มแบบเข้มข้น ล้างหลายสิบครั้งซ้ำๆ คือล้างไปเรื่อยๆ จนผนังหมดความเค็มนับสิบๆ รอบ
จุลทัศน์ อุปัชฌาย์ ผู้อาสาเป็นตัวหลักเตรียมพื้นผนังโบสถ์ เขาล้างผนังซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วใช้ขมิ้นสดขีดเขียนเพื่อทดสอบความเค็ม หากสีของขมิ้นแปรเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล/แดง แสดงว่าความเค็มของปูนยังคงอยู่ หากเขียนภาพฝาผนังลงไปจะทำให้ภาพนั้นหลุดล่อนในเวลาไม่กี่ปี ฉะนั้น จึงต้องล้างผนังหลายครั้งจนกว่าสีของขมิ้นจะเป็นสีเหลืองสด ทำไปและตรวจสอบความเป็นกรดและด่างไป
วิธีพิสูจน์ความด่าง/เค็มของปูนผนังโบสถ์ ต้องใช้แง่งขมิ้นชันสดขูดที่ผนังเพื่อดูว่าสีขมิ้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรืออ่อนหรือคงสีเหลือง เมื่อขมิ้นคงสภาพสีเหลืองเท่าสีเหลืองของแง่งขมิ้นก็เท่ากับความเค็มของปูนที่ผนังหมดสภาพ พร้อมกับการทากาวเม็ดมะขามผสมดินสอพองในลำดับถัดไป

เวลาผ่านมาหลายเดือน ขมิ้นเหลืองสดใสบนผนังโบสถ์ การ เตรียมพื้นเสร็จสิ้น พร้อมเข้าขั้นตอนต่อไป
ชาวบ้านท่ามะไฟหวานเอาเม็ดมะขามมาบริจาคเพื่อนำไปทำ กาวเมล็ดมะขาม นับเป็นการฟื้นฟูการเขียนสีด้วยวิธีโบราณผนังโบสถ์แห่งแรกในภาคอีสาน ก่อนหน้านั้นเคยมีการทำแบบนี้ในภาคกลาง อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอาจารย์ของ อ.สมภพ บุตราช ผู้เคยเขียนที่วัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน อังกฤษ และศิลปินอีกหลายคน



