“สมัยก่อนยายเรียนที่ศาลาวัดบ้านไร่ นี่ล่ะ เขาเรียกโรงเรียนวัดบ้านไร่ สร้างโดยคนในชุมชนช่วยกัน ใช้ช้างลากซุง กระเบื้องหลังคาก็ปั้นกันเอง ทำเตาเผากันเอง พระสงฆ์จะสึกต้องเอาเสาไม้มาแลก ไม้ก็หาตามป่าตามเขา คนรุ่นยายแถวนี้เรียนจบ มาจากที่นี่ทั้งนั้น” ยายสมหวัง จีนจรรยา เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำในวันวานกับศาลาวัดบ้านไร่
ศาลาวัดบ้านไร่ ปัจจุบันคนที่นี่เรียกว่า “ศาลาไม้ 100 ปี” สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2470 ในสมัยนั้นศาลาแห่งนี้ใช้เป็นโรงเรียนประชาบาล มีตั้งแต่ชั้น ป.เตรียม หรือก็คืออนุบาลในสมัยนี้ ไปจนถึงชั้นประถมศึกษา ปีที่ 7 แบ่งระดับชั้นด้วยการแบ่งช่วงเสา
ศาลาวัดบ้านไร่เป็นจุดศูนย์รวมของชาวบ้านในชุมชน ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวาระพิเศษ เช่น เทศน์มหาชาติ บุญเดือนสี่ หรือกิจกรรมสำคัญต่างๆ ของชุมชนเสมอมา
เวลาผ่านมาเกือบร้อยปี วันนี้ชาวบ้าน บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ช่วยกันรื้อฟื้นความทรงจำที่มีค่าของพื้นที่แห่งนี้ให้กลาย เป็นตลาด บอกเล่าวัฒนธรรมลาวเวียงซึ่งอาศัยที่นี่มาตั้งแต่สมัยก่อนโดยใช้ชื่อตลาดว่า “ตลาดม้องแลง”
“ม้องแลง” เป็นภาษาลาวเวียง แปลว่า ที่นี่ ตอนเย็น เป็นความหมายในเชิงเชิญชวน ภายในตลาดมีร้านค้าอาหารต้นตำรับจากชาวลาวทั้งคาวหวาน หลายเมนูเป็นอาหารลาว ที่หากินยากในปัจจุบัน
“ในตลาดมีร้านอาหารหลายร้านเลยค่ะ หนูไม่เคยกินหลายอย่าง แต่อร่อยทุกอย่าง เลยค่ะ” น้ำอิ่ม ด.ญ.ภัควลัญช์ อุษาทะพานนท์ และ น้ำอุ่น ด.ญ.พรรณพัชชา อุษาทะพานนท์ สองพี่น้องฝาแฝดการันตีคุณภาพตลาด หลังจากเดินชิมอาหารมาหลายร้าน
“นอกจากอาหาร ที่ตลาดจะมีลานกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ด้วย นะคะ แต่ว่าวันนี้เป็นวันลอยกระทง เราจะมีลูกโป่งและจานกาบหมากให้ลอยด้วยค่ะ”