ในอดีตชาวนาไทยมีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในทุกระยะ ตั้งแต่เริ่มทำนา แรกไถ ปักดำข้าวโต เรื่อยไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว
แต่ในปัจจุบันที่วิถีการทำนาเปลี่ยนไป พิธีกรรมแห่งท้องทุ่งไม่ค่อยจะได้เห็นกันแล้วหลายพื้นที่ฟื้นฟูพิธีกรรมข้าวขึ้นมาใหม่ให้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ แต่เมื่อทำแล้วสิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือคุณค่าทางใจ เกิดขวัญและกำลังใจแก่ชาวนา
“ศรีๆ วันนี้วันดี แม่ศรีโพสพ แม่นพดารา แม่จันเทวี แม่ศรีสุดา เทวดาฟ้าดิน เจ้าป่าเจ้าเขา อยู่ทั่วไร่ทั่วนา ลูกมาทำขวัญแม่โพสพ เอาส้มสูกลูกไม้ ของหวานของเปรี้ยวมาให้ ยามแพ้ท้องแพ้ไส้ ขอเชิญแม่มารับเอาของที่ลูกเตรียมมาไปรับประทาน เอาแป้งจันทร์ น้ำมันหอม กระจก มาให้แม่แต่งตัว หวีหัว ประหน้า นะแม่นะ ขอให้แม่โพสพปกป้องดูแลข้าวในนา เพลี้ย หนอน นก หนู ใดๆ อย่าได้รบกวนเบียดเบียน ให้ออกลูกออกรวงกอใหญ่ๆ ขอให้ข้าวรวงละหม้อ กอละมัด มัดละเกวียน นะแม่นะ”
คำทำขวัญข้าว ฟังแล้วนึกฮึกเหิม อยากดูแลผืนนาให้ดี ได้ข้าวมากมายขนาดว่า “รวงละหม้อ กอละมัด มัดละเกวียน” กันเลยทีเดียว
กีต้าร์ เปียโน เบส ฟังคำทำขวัญข้าวที่ยาวเหยียดแล้วก็รู้ว่าที่พูดมาทั้งหมดนั้น “ก็เพื่อ ให้ข้าวออกรวงเยอะๆ ได้ผลดี ไม่มีอะไรมา รบกวน”
กีต้าร์ ด.ญ.ณัฐหทัย พิณโย กับ น้องเปียโน ยังบอกอีกว่า “โชคดีที่ได้มาเห็นว่าพิธีทำขวัญข้าวเป็นแบบนี้ เอาหวีหวีใบข้าว และทาแป้งให้ข้าวด้วย ไม่เคยเห็นเลย”
เบส ด.ช.กิตติพิชญ์ พานทอง สารภาพว่ามาที่หลงดาวชอบเล่นโคลนที่สุด แต่ก็ไม่ลืมช่วยผู้ใหญ่เกี่ยวข้าวด้วย น้องเบสบอกว่า “ดีมากที่ได้มาเกี่ยวข้าวที่เราโยนไว้เอง ภูมิใจด้วย” น้องเบสเพิ่งรู้จักขวัญข้าวและแม่โพสพก็ครั้งนี้นี่เอง