กาลเวลาผ่านไป สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนตาม หลายสิ่งยังคงอยู่ หลายอย่างจางหายไป
ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี พื้นที่ที่ใครเข้ามาจะพบต้นหมากมากมายเรียงรายตลอดเส้นทาง นั่นเพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ได้ชื่อว่า “หมากล้านต้น”
ในอดีตชาวลาวเวียงอพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว ปลูกหมากขยายอาณาเขตพื้นที่อาศัย นานวันไปกลายเป็นป่าหมากที่ใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน ในช่วงยุคสมัยหนึ่ง การกินหมากได้รับความนิยมมาก ทำให้หมากบ้านไร่กลายเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่มาจนปัจจุบัน
เมื่อเวลาผ่านไป การกินหมากน้อยลงมาก ทำให้ชาวบ้านหลายคนตัดสินใจเปลี่ยนป่าหมากเป็นป่ามัน พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มากกว่า ทำให้อัตลักษณ์ของบ้านไร่เริ่มจางไป
“เมื่อไม่กี่ปีก่อน ถ้าเดินไปตามซอยในหมู่บ้าน หนูจะเห็นต้นหมากโดนตัดเป็นตอๆ เลยค่ะ เขาจะเอาไปปลูกมันสำปะหลังส่งโรงงานค่ะ” บิว ด.ญ.กัญญาลักษณ์ อุลาลัก คลุกคลีกับหมากมาตั้งแต่เกิดเพราะแม่ยังคงทำอาชีพสับหมาก
สับหมากคือการเฉาะเปลือกหมากเพื่อนำเนื้อหมากออกมาฝานเป็นแว่นๆ และตากแห้งเพื่อส่งขาย เป็นกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมที่ทำได้ตามฤดูกาลเพียงปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น
ในช่วงเดือนตุลาคมจนถึงมกราคมเป็นช่วงฤดูหมากของบ้านไร่ ชาวบ้านหลายคนจะรวมตัวกันสับหมากเพื่อเตรียมส่งขาย แม้มูลค่าของหมากในปัจจุบันจะราคาไม่สูงเช่นเมื่อก่อน แต่ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาด เพราะสมัยนี้นอกจากจะนำหมากไปกินแล้วยังนำไปย้อมผ้าได้อีกด้วย
“ถ้าเป็นช่วงฤดูกาลอื่นๆ ก็จะเก็บกาบหมากไปขายให้กลุ่มใบไม้เปลี่ยนเมืองของบ้านไร่เราค่ะ เขาจะนำไปอัดเป็นจานกาบหมาก ชาวบ้านร่วมกันทำด้วย เป็นรายได้อีกอย่างหนึ่งค่ะ” บิวเล่าเสริม
เมื่อราคาขายหมากตากแห้งน้อยลง การแปรกาบหมากที่ร่วงหล่นให้เป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจานกาบหมากเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ต้นหมากได้มาก นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้วันนี้ป่าหมากที่ใกล้หายไปกลับคืนมาอีกครั้ง
“ทุกวันนี้เดินไปตามซอยต่างๆ เริ่มเห็นต้นหมากต้นเล็กๆ แทนต้นมันแล้วค่ะ ชาวบ้านเริ่มกลับมาปลูกกันอีกครั้ง ชื่นใจค่ะ” บิวพูดพร้อมรอยยิ้ม