แคมปิ้ง ปิ้งข้าวจี่ ที่ แดกศิลป์อาร์ตสเปซ

พวกเราทีมงานทุ่งแสงตะวันนับวันถอยหลังด้วยความตื่นเต้น

ที่จะออกเดินทางไปอีสานใต้ จะใช้ชีวิตกลางแจ้งกัน 3 วัน 3 คืน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ขอบอกว่า ทริปนี้ ไม่ผิดหวังเลย ทำงานเหมือนไปเที่ยว พักผ่อน สบายใจ และทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ สิ่งที่เหนือความคาดหมายคือ การเวิร์คชอปทำหุ่นและฝึกซ้อมเชิดหุ่นเงาใบไม้กับพี่ยอด คุณเจริญพงศ์ ชูเลิศ  สนุกจริงๆ

เจริญพงศ์ ชูเลิศ เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นคนอีสานใต้ เป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนทางเลือกที่แนวสุดๆในยุคสามสิบปีก่อน และแนวคิดของโรงเรียนยังทันสมัยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นั่นคือ โรงเรียนเด็กรักป่า จ.สุรินทร์ ของพี่จืดและพี่หน่อย คุณเข็มทองและคุณอาริยา โมราษฏร์ นั่นเอง

พี่นก นิรมล เมธีสุวกุล ผู้ควบคุมการผลิตรายการทุ่งแสงตะวัน บอกว่า เมื่อก่อน เคยเห็นพี่ยอด เจริญพงศ์ ตั้งแต่อายุ 12-13 ขวบ เรียนรู้โดยมีศิลปะและธรรมชาติเป็นครู ตระเวนแสดงละครเวทีและละครหุ่นเชิดไปในที่ต่างๆ หลายต่อหลายแห่ง

03 วิถีแคมเปอร์
02 ข้าวจี่ปิ้ง กับกาแฟร้อนๆ ยามเช้า

จนในที่สุด มีครอบครัวเล็กๆ ภรรยาเป็นคุณครู ลูกชายวัยซนสองคน ชื่อ ปั่นปัน ด.ช.ศิลป์ชัย ชูเลิศ กับ ปุ๊บปั๊บ ด.ช.สิงหรา ชูเลิศ และยังคงเดินทางชีวิตบนถนนสายศิลปะเคลื่อนไหวทั้งเรื่องสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านต่างๆ ที่โดดเด่นที่สุด คือ การเชื่อมโยงธรรมชาติกับละครหุ่น ภายใต้กิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของพี่ยอด คือ นำใบไม้มาเป็นวัสดุทำหุ่นเงาที่สวยงามและน่าทึ่ง

ปี 2564 เป็นวาระครบรอบ 30 ปี ทุ่งแสงตะวัน พี่นก นิรมล เมธีสุวกุล ผู้ควบคุมการผลิต/โปรดิวเซอร์ จึงมีความคิดว่า น่าจะทยอยทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ และแหล่งข่าวในชุมชนต่างๆ ที่เคยออกรายการทุ่งแสงตะวันด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้งเพื่อเฉลิมฉลองและคลายความคิดถึงกัน

ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด กิจกรรมก็คงต้องจำกัดวงให้เล็กๆ แต่เผยแพร่ได้กว้างขวาง  จึงมีความคิด นำนิทานเรื่องหนึ่งมาทำเป็นละครหุ่นเงาใบไม้ โดยพี่ยอด เจริญพงศ์ ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ พี่นกคนแต่งนิทานมาหัดทำหุ่นเงาใบไม้และซ้อมพากษ์ ซ้อมเชิดในโอกาสพิเศษนี้

พี่นก นิรมล เคยแต่งนิทานเรื่อง “ลูกยางเดินทาง” เผยแพร่ พิมพ์ครั้งแรก ปี 2547 ในหนังสือเรียนภาษาไทย ชั้น ป.5 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชุดภาษาพาที หลังจากแต่งนิทานดังกล่าว ก็ไม่เคยนำนิทานมาสื่อสารในรูปแบบอื่น การทำละครนิทานหุ่นเงาใบไม้ครั้งนี้ จึงนับเป็นครั้งแรกที่น่าตื่นเต้น

ทันทีที่ไปถึงหมู่บ้านจีกแดก อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ สองป.ปั่นปันกับปุ๊บปั้บก็กระโดดหยองแหยงมากอดกับพี่ป้าน้านกอย่างตื่นเต้น ราวกับญาติสนิทที่ไม่เจอกันนาน เปล่า…!! นี่เป็นการพบหน้ากันครั้งแรกในชีวิตของป้าและหลาน  ที่รู้สึกสนิทสนมกันคงเพราะเด็กทั้งสองเคยเห็นพี่ป้าน้านกในทีวีและเฟซบุ๊คจนคุ้นเคยนั่นเอง

พวกเราทีมงานทั้งหมดพากันขนข้าวของกางเต็นท์ในสวนไผ่ของพี่ยอด ซึ่งหลังจากปลูกและประคบประหงม มาห้าปี บัดนี้ก็ร่มรื่นกลายเป็นพื้นที่เย็นสบายที่เรียกว่า “แดกศิลป์ อาร์ตสเปซ”  มันเท่มากนะขอบอก การที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในพนมดงรัก มีอาร์ตสเปซใต้ร่มเงาไผ่ หญ้ายักษ์ที่มีคุณประโยชน์ร้อยแปด โดยเฉพาะนำลำไผ่มาเป็นของเล่นของใช้จิปาถะ ที่ขำกันมากคือ นอกจากเต็นท์ของทีมงาน กางกันเต็มที่ เต็นท์ละคน ร้อนไม่กลัว เพราะมีสายปลั๊กไปต่อจ่อพัดลมเข้าเต็นท์ระบายอากาศอ้าวยามค่ำ ยังมีเต็นท์ของครอบครัวปุ๊บปั๊บและปั่นปันกางเอาไว้ด้วย พร้อมมาก พร้อมตั้งแต่เมื่อวาน พี่ยอดเม้าท์ลูกชาย บ้านก็มีไม่นอน ขอนอนเต็นท์จ้า

ยามเย็นอากาศยังร้อนหน่อย แต่พอย่างเข้าช่วงค่ำ ก็เย็นสบาย แถมหนาวตอนดึก ผ้าห่มที่เอาไว้หนุนแทนหมอนก็ได้ทำหน้าที่ผ้าห่มกับเขาจริง ๆ

ยามเช้าอากาศเย็น ๆ ก่อไฟ ต้มน้ำชากาแฟ และ ปิ้งข้าวจี่ชุบไข่ อย่างฟิน   เราจึงเรียก ทริปนี้ ว่า “แคมปิ้ง ปิ้งข้าวจี่” นั่นเอง

จากวิถีแคมเปอร์ พี่นก นิรมลและทีมงานทุ่งแสงตะวัน ก็แปลงกายเป็น คนทำหุ่นเงาใบไม้ เพื่อใช้สำหรับจะเชิดแสดงละครนิทานหุ่นเงา ทำเสร็จก็ซ้อมบท เติมบท ต่อยอดจากนิทานเดิมในหนังสิอให้มีรสชาติเหมาะสำหรับผู้ชมละคร

ในท้องนากว้างที่มีต้นยาง (สะแบง) อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องนาอีสาน ท้องฟ้าใสสะอาด แดดร่มลมตก คณะละครหุ่นเงาใบไม้ก็ซ้อมรอบแรกท่ามกลางเสียงพิณและโหวด ซ้อม ซ้อม และซ้อม เสียงหัวเราะ เสียงพูดคุย เสียงโปรดิวเซอร์สั่งงาน เสียงพากษ์ของพี่นก นิรมล ทำให้ท้องนาวันนั้นมีความหมายพิเศษ มันจะพิเศษไปกว่านี้อีก เมื่อซ้อมเสร็จแล้ว ก็จะนำไปแสดงรอบแรกในชุมชนบ้านจีกแดก ณ แดกศิลป์ อาร์ตสเปซ

ติดตามชม การเดินทาง แคมปิ้ง ทำหุ่น และซ้อมเชิดนิทานหุ่นเงาใบไม้ ทุ่งแสงตะวัน ตอน ลูกยางเตรียมตัว เสาร์ที่ 2 มกราคม 2564 นี้ ทางช่อง 3 กด 33 และ เพจ ทุ่งแสงตะวัน

ชมคลิปตัวอย่าง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *