ตู้ลู้ลูกข่างดอย ลานสนุกเด็กม้ง

ปีใหม่ปีนี้ไม่ว่าที่ไหนก็ไม่เหมือนปีใหม่ที่เคยเป็นมา เทศกาลปีใหม่ม้งที่บ้านมณีพฤกษ์ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ก็เช่นเดียวกัน

ปีนี้ไม่ได้จัดกิจกรรมรื่นเริงในชุมชน เนื่องจากอยู่ในภาวะเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 แม้ไม่มีการแข่งขันประชันลูกข่างที่แสนสนุกครึกครื้นในงานปีใหม่ แต่หมู่บ้านก็ไม่เงียบเหงา เพราะเด็กๆ ต่างรู้ว่าถึงเวลาของการเล่นลูกข่างแล้ว ลานเล็กๆ กลางบ้านจึงเป็นสนามประลองลูกข่างของพี่ๆ น้องๆ ครอบครัวกำเนิดมงคล

จ่าง กำเนิดมงคล คุณพ่อลูกสามบอกว่าเห็นลูกๆ หลานๆ ชวนกันเล่นลูกข่างแล้วทำให้นึกถึงวัยเด็กของตัวเอง พอใกล้ปีใหม่ต้องรบเร้าให้พ่อทำลูกข่างให้เล่น ไม่อย่างนั้นพอถึงปีใหม่จะไม่มีลูกข่างเล่นเหมือนเพื่อนๆ “พ่อจะเลือกเฉพาะไม้เนื้อแข็งที่ขึ้นตามผาหินบนดอยมาทำลูกข่างเท่านั้น เพราะแข็งแรง ทนทาน เนื้อไม้ดี ลูกข่างหมุนได้นาน”

ลูกๆ ของจ่างยังไม่สนใจการทำลูกข่างเท่าไรนักเพราะอยากเล่นมากกว่า แต่สำหรับเด็กที่เริ่มโตขึ้นมาหน่อยก็อยากลองทำบ้าง ต้องสับต้องถากและเหลาลูกข่างให้กลมเกลี้ยงด้วยมีดคมกริบ ชวนหวาดเสียว ก่อนจะพบว่า “ยากครับ ยากตรงที่ต้องทำหน้าลูกข่างให้เรียบ และขาต้องทำให้มันสมดุลกัน” ด.ช.ฉัตรมงคล กำเนิดมงคล สารภาพระหว่างลองผิดลองถูกและจบลงด้วยฝีมือผู้ใหญ่ในที่สุด

การเล่นลูกข่างเป็นสัญลักษณ์แห่งเทศกาลรื่นเริงของพี่น้อง ชาวดอย ก่อนเทศกาลปีใหม่เด็กชายชาวม้งมักจะเร่งพ่อให้รีบทำลูกข่าง เป็นอย่างนี้มารุ่นแล้วรุ่นเล่า เด็กผู้ชายแทบทุกคนจึงมีลูกข่างเล่นไม่น้อยหน้ากัน ลูกๆ ของจ่างเองก็เช่นกัน

มั่วเย่งกับซ้ง สองคนพี่น้อง ได้ลูกข่างใหม่ฝีมือพ่อมาเล่นทันเวลาเหมือนเด็กคนอื่นๆ “พ่อสอนให้พันเชือกและปล่อยลูกข่างครับ ถ้าเชือกยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป ไม่พอดีมือ จะปล่อยไม่ถนัด ลูกข่างจะหมุนไม่ดี” ด.ช.มั่วเย่ง สุชัชจ์ กำเนิดมงคล บอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง

การเล่นลูกข่างเล่นกัน 2 แบบ แบบหนึ่งคือประเภทหมุนนาน เมื่อปล่อยลูกข่างจากมือแล้วลูกข่างของใครล้มลงเป็นอันสุดท้าย คนนั้นชนะ อีกแบบหนึ่งเรียกว่าตีลูกข่าง แบบหลังนี้เป็นการขว้างลูกข่างหรือโยนลูกข่างให้ไปกระทบลูกอื่นๆ จาก ระยะไกลๆ เป็นการประลองความแม่นยำ ใครมีฝีมือแม้ไกลแค่ไหนก็ตีได้ทุกลูก

การเล่นแบบนี้นี่เองเป็นที่มาของคำว่าเล่นไม่เลิก เพราะเมื่อยังไม่ชนะเด็กๆ ก็อยากจะชนะให้ได้ ใครที่เคยชนะแล้วก็อยากชนะอีกอยู่ร่ำไป ใครเป็นแชมป์ก็จะมีคนจ้องจะล้มแชมป์ลงให้ได้ เกมสั้นๆ จบภายในไม่กี่นาทีจึงเกิดขึ้นรอบแล้วรอบเล่า หมุนวนจากเช้าจรดเย็นและเริ่มใหม่ได้ทุกวันไม่รู้เบื่อ เด็กๆ มักจะสนุกจนลืมหิว พ่อแม่ต้องคอยเป็นกรรมการตีกระดิ่งหยุดการแข่งขันชั่วคราว

หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว งานไร่ในสวนซาลง เป็นช่วงเวลาเหมาะสมกับการเล่นเป็นอย่างยิ่ง เด็กๆ มีเวลาเล่น พ่อมีเวลาทำลูกข่างให้ลูกหลาน พ่อแม่ ลูกๆ พี่ๆ น้องๆ ครอบครัว มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น เทศกาลปีใหม่จะมีหรือไม่มีลูกข่างก็ยังคงหมุน นำความสุขความเบิกบานมาพร้อมลมหนาวอยู่เสมอ

พบลูกข่างแสนสนุกของเด็กๆ ชาวม้งในรายการ ทุ่งแสงตะวัน ตอน ลูกข่าง ตู้ลู้ เสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33

ชมคลิปตัวอย่าง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *