สองเด็กหญิง เยือนบางกลอย

“น้องเกลนั่งรถเดินทางไปที่บ้านบางกลอย เหนื่อยมาก..”

คำบรรยายประกอบภาพวาดฝีมือเด็กหญิงอิสบาเกล ธันชนก พรมมา บอกเล่าประสบการณ์การผจญภัยบนเส้นทางถนนลูกรังขึ้นลงเขาลาดชันระยะทางกว่า 35 กิโลเมตร จากด่านเขามะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จุดหมายคือบ้านบางกลอยล่าง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

ปลายเดือนมกราคม อิสบาเกลและครอบครัวจัดข้าวของเดินทางไกลมาจากอำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ นัดแนะครอบครัวน้องเทียน เด็กหญิงนภาจรีย์ ชูสกุลธนะชัย ที่กรุงเทพมหานคร เพราะได้ข่าวคราวว่าคนบางกลอยยากลำบาก ข้าวไม่พอกิน

ครอบครัวของเด็กๆ เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมสิ่งแวดล้อม สังกัดชมรมเด็กรักนกรักธรรมชาติท่ามะไฟหวาน จึงขนข้าวสารอาหารแห้ง ขนม ของใช้ต่างๆ ตั้งใจมาเยี่ยมเยียน พี่น้องคนบางกลอย

003
004

เทียนบอกว่า “เราผ่านภูเขาหลายลูกมากค่ะ สองข้างทางมองเห็นแต่ต้นไม้ บางทีก็มองเห็นลำห้วยด้วย”

ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ถนนมาสุดที่ “บ้านโป่งลึก” หากขึ้นสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเพชรบุรีไปก็จะพบ “บ้านบางกลอยล่าง” จุดหมายปลายทาง

“ชาวบ้านที่นี่เขาสร้างบ้านเล็กๆ จิ๋วๆ จากไม้ไผ่ เลี้ยงหมู ไก่ หมา แล้วก็แมว ไม่มีไฟฟ้า แต่มีแผงโซลาร์เซลล์ค่ะ ชาวบ้านเขาก็อยู่สุขสงบ แต่เกิดเรื่องอะไรไม่รู้ ทำให้ชาวบ้านอยู่ไม่สบาย” เกลบรรยายความรู้สึกเมื่อมาถึงหมู่บ้านบางกลอย

ต้นแม่น้ำเพชรบุรีมีชุมชนหมู่บ้านดั้งเดิมอยู่แล้วหลายแห่ง หากย้อนกลับไปก่อนปี 2538 จะพบว่าบริเวณนี้ไม่มี “บ้านบางกลอย” มีแต่ “บ้านโป่งลึก” เมื่อมีการตั้งอุทยานแก่งกระจาน นำไปสู่นโยบายย้ายคนออกจากบ้านบางกลอยบน

และบริเวณยอดเขาที่เรียกว่า “ใจแผ่นดิน” กลางป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นถิ่นฐานบรรพชนที่อยู่อาศัยมานานนับร้อยปี ทำไร่หมุนเวียน มีวิถีชีวิตอยู่กับป่าอย่างสอดคล้องกลมกลืน เคารพและเข้าใจธรรมชาติ ชาวบ้านบางกลอยทยอยออกมาจากถิ่นฐานดั้งเดิม แบ่งปันพื้นที่ทำกินกับบ้านโป่งลึก บริเวณด้านล่างของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเรียกชุมชนนี้ว่า “บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง”

เมื่อคนที่เคยอาศัยอยู่ในป่าต้องย้ายออกมาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย คนบางกลอยจึงต้องเผชิญปัญหาได้ที่ทำกินน้อย บางครอบครัวไม่ได้ที่ดินสำหรับปลูกข้าวพึ่งพาตนเอง และไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีกะเหรี่ยง หลายครอบครัวจึงทยอยย้ายกลับไปอยู่ที่เดิม นำไปสู่ฝันร้ายคือเจ้าหน้าที่ขึ้นไปอพยพชาวบ้านลงมาจากบางกลอยบน ใจแผ่นดินเผาสิ่งปลูกสร้างยุ้งฉางเก็บข้าว ในปี 2554 และบังคับย้ายกลับมาที่บางกลอยล่างอีกครั้ง

อิสบาเกลเล่าว่า “หนูไม่อยากให้เขาโดนเผาบ้านค่ะ อยากให้เขากลับไปที่ใจแผ่นดิน จะได้ปลูกข้าวไว้กินเองได้ ลูกหลานจะได้ทำบุญให้ปู่คออี้ด้วยค่ะ”

หลังจากถูกอพยพมา ความทุกข์ยากของคนกะเหรี่ยงบางกลอยยังคงไม่ได้รับการแก้ไขช่วยเหลือ 70 กว่าชีวิตตัดสินใจกลับคืน ใจแผ่นดิน บ้านบางกลอยบน เพื่อปลูกข้าว ทำพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณปู่คออี้ หนีความยากไร้หลังตกงานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้ปัจจุบันสถานการณ์บ้านบางกลอยยังไม่มีข้อสรุป อยู่ในขั้นตอนการเจรจา แก้ปัญหา แต่การที่เด็กน้อยได้ติดตามครอบครัว ได้เห็นชีวิต ร่วมรับรู้ปัญหาทุกข์สุข นับเป็นประสบการณ์สั้นๆ ที่ดีและมีความหมายยิ่งนัก

ทำความรู้จักบางกลอยในมุมมองเด็กๆ ในทุ่งแสงตะวัน ตอน เยือนบางกลอย เช้าวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และเวลา 07.30 น. ทางเฟซบุ๊ก ทุ่งแสงตะวัน

ชมคลิปตัวอย่าง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *